The Crown ,รีวิวซีรีย์
รีวิว The Crown Season 3 เข้มข้นขึ้นและเปลี่ยนนักแสดงชุดใหม่
การกลับมาของซีรีส์ประวัติศาสตร์อังกฤษสุดอลังการใน Netflix ว่าด้วยการแฉเรื่องราวเบื้องลึกใน ราชวงศ์วินเซอร์ (Windsor) โดยเล่าเรื่องราวผ่าน ควีนเอลิซาเบธ และ เจ้าชายฟ้าฟิลิปส์ กับบรรดาสมาชิกในราชวงศ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งซีซันนี้จะเน้นไปที่การเล่าเรื่องราวของการเมืองอังกฤษยุคนั้นแบบทริลเลอร์ที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วย รีวิว The Crown Season 3
เรื่องย่อ
หลังขึ้นครองราชย์จนพ้นผ่านช่วงวันเวลาแห่งวัยเยาว์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (โอลิเวีย โคลแมน) ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ท้าทายการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ทั้ง ฮาโรลด์ วิลสัน (เจสัน วัตคินส์) นายกรัฐมนตรีหัวซ้ายที่มาพร้อมกระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น ,การตัดสินพระทัยครั้งสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ภูเขาถ่านหินถล่มที่เอเบอร์ฟานถล่มคร่าชีวิตเด็กนักเรียนนับร้อย
หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่ชาวเวลส์เริ่มประท้วงเรียกร้องเอกราชทำให้ทรงตัดสินพระทัยส่ง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (จอช โอ คอนเนอร์) ไปเรียนภาษาเวลส์เพื่อแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ หรือในด้านพระบรมวงศานุวงศ์เองก็รายล้อมไปด้วยปัญหารอบด้าน ทั้งความน้อยเนื้อต่ำพระทัยของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ความรักที่ต้องถูกกีดกันของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ หรือกระทั่งวิกฤติศรัทธาต่อพระเจ้าของ ฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระห์ (โทไบอัส เมนซีส์) ซึ่งพระราชินีแห่งอังกฤษผู้นี้จะต้องฟันฝ่าเพื่อพิสูจน์ตัวพระองค์เองอีกครั้ง
และแล้ว The Crown ซีรีส์พระราชประวัติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของ ปีเตอร์ มอร์แกน ก็เดินทางมาถึงซีซันที่ 3 คราวนี้มอร์แกนเลือกจับเหตุการณ์ช่วงปี 1964 – 1977 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้ง สงครามเย็นที่มาพร้อมแนวคิดสังคมนิยมอันท้าทายขั้วอำนาจเดิมอย่างสถาบันกษัตริย์
หรือความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีจนส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จที่มาท้าทายความเชื่อทางศาสนา รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์เพื่อชี้ให้เห็นถึงมรสุมการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์ แต่กระนั้น ปีเตอร์ มอร์แกน ก็ยังไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์จากซีซัน 1 - 2
เพื่อจบยุคเดิมอย่างสมบูรณ์ทั้งการจากไปของวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถวายงานสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง ฮาโรลด์ วิลสัน ที่มาจากคนละขั้ว, แผนการปฏิวัติยึดอำนาจที่ดันไปเอา ลอร์ด เมานต์แบทเทิน พระปิตุลามาร่วมขบวนจนอาจทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญเสียเอง
หรือกระทั่งการกล่าวถึงวาระสุดท้ายของ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 มาใช้เปรียบเปรยความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับ นางคามิลลา พาร์คเกอร์ โบล ที่เสมือนประวัติศาสตร์อาจเดินมาซ้ำรอยได้ โดยใช้ภาษาหนังบอกเล่าผ่านภาพเงาสะท้อนหน้าเจ้าฟ้าชายชาล์สบนรูปหน้าศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เรียกได้ว่าเก็บทุกเม็ดจริง ๆ
จุดเด่น
จุดเด่นของการนำเสนอชีวิตของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในซีซันนี้จึงเป็นการแบ่งแต่ละตอนด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันโด่งดังที่ทำให้เห็นว่า ปีเตอร์ มอร์แกน เก่งการเชื่อมโยงขนาดไหน ตั้งแต่ตอนแรกที่เป็นการเข้ารับตำแหน่งของ ฮาโรลด์ วิลสัน ของพรรคแรงงานที่ยึดหลักการสังคมนิยม
ที่ก็ยังอุตส่าห์ให้ภาพของความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และการแผ่อำนาจของโซเวียตยุคสงครามเย็นมาใช้เปิดซีซันและทำให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ได้ถูกทดสอบตั้งแต่การพ่ายแพ้ของพรรคอนุรักษ์นิยมแล้ว เพราะในพรรคแรงงานเองก็ยึดปรัชญาของสังคมนิยมโซเวียตมาใช้ออกนโยบาย แถมยังมีเหตุการณ์ในตอน เอเบอร์ฟาน ที่ภูเขาถ่านหินเกิดถล่มเพราะฝนตกหนักจนมีเด็ก ๆ เสียชีวิตจำนวนมาก
แต่ด้วยโบราณราชประเพณีไม่นิยมให้ประมุขเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่เกิดเหตุ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างทำตามกฎกับการปลอบขวัญประชาชนในยุคที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มเรืองอำนาจและกระแสตีกลับต่อสถาบันรุนแรงเหลือเกิน โดยส่วนสำคัญในการถ่ายทอดบทบาทและเรื่องราวก็คงต้องชื่นชมการแสดงของ โอลิเวีย โคลแมน ที่เพิ่งได้ออสการ์จากบทราชินีสุดเพี้ยนใน The Favourite (2018) ที่มาสานต่อบทนี้ต่อจาก แคลร์ ฟอยล์ ได้แบบเนียนสนิท
โดยเฉพาะการวางเฉยที่เธอใช้ร่างกายแทบทุกส่วนในการสื่อสารสภาวะภายในตัวละคร โดยเฉพาะดูหนัง HDตอนจบของตอน Aberfan ที่ตัวละครของเธอเริ่มพูดถึงความผิดปกติของต่อมน้ำตาพระราชินี จนภาพทิ้งให้เธอค่อยปลดปล่อยน้ำตาออกมาทีละน้อยจนเราอดร้องไห้และเห็นใจตัวละครผู้สูงศักดิ์อย่างเธอไม่ได้
ไม่เพียงแต่ตัวละครพระราชินีเท่านั้นที่มีบทบาท เพราะเหตุการณ์สำคัญอย่างการส่งมนุษย์อวกาศไปลงดวงจันทร์ได้สำเร็จ ก็ถูกใช้มาทดสอบวิกฤติศรัทธาที่หายไปของ ฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระห์ และบอกเล่าที่มาของสถาบันด้านศาสนาและปรัชญาที่เก่าแก่ได้อย่างน่าเชื่อถือในตอน Moondust (โดยก่อนหน้านี้ในตอน Bubbikins ก็ได้กล่าวถึง เจ้าหญิงอลิซแห่งกรีซพระมารดาของพระองค์ที่สละสมณศักดิ์และบวชชี เพื่อปูพื้นเรื่องศรัทธาที่หายไปของ ฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระห์ ได้อย่างน่าสนใจมาแล้ว)
ซึ่งการมาสานต่อบทบาทนี้ของ โทไบอัส เมนซีส์ ต่อจาก แมต สมิธ ยังถือว่ายอดเยี่ยม และเผลอ ๆ จะดีกว่าใน 2 ซีซันที่ผ่านมาด้วย เพราะคราวนี้ปมดรามาของตัวละครเริ่มรุนแรงขึ้นจากปมเรื่องแม่ ลามไปวิกฤติวัยกลางคนและวิกฤติศรัทธาที่ เมนซีส์ ค่อย ๆ กะเทาะเปลือกตัวละครทีละน้อย ที่สำคัญยังทำให้ตัวละครเจ้าชายฟิลลิปส์เท่ขึ้นมากจนพ้นสถานะไม้ประดับเหมือน 2 ซีซันที่ผ่านมา นอกจากนี้ตัวละครที่ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในซีซันนี้คงเป็นใครไปไม่่ได้นอกจาก เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตเมื่อทรงเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน
เจ้าฟ้าชาย ชาร์ลส์
โดยเจ้าฟ้าชาย ชาร์ลส์ ได้มีบทบาทหลักใน 2 ตอนได้แก่ตอน Tywysog Cymru ที่ทรงถูกบังคับให้เดินทางไปเรียนภาษาเวลส์ ยังประเทศที่ประท้วงเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แม้ว่าจะเป็นการปล้นความฝันในการเป็นนักแสดงละครเวทีก็ตาม ส่วนอีกตอนที่ถือว่าเป็นอีกจุดที่ช่วยทำให้เห็นความตึงเครียดของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับครอบครัวได้แก่ตอน Imbroglio ที่ท่านต้องถูกกีดกันความรักจากนาง คามิลลา พาร์คเกอร์ โบล
ก็ได้ จอช โอ คอนเนอร์ อีก 1 หนุ่มหล่อจากซีรีส์ Peaky Blinders มารับบทเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้อย่างมีเสน่ห์ ด้วยบุคลิกอ่อนน้อม ไร้เดียงสาของตัวละครที่จะต้องเผชิญหน้ากับการถูกบังคับจาก พระราชมารดาให้ไปเรียนภาษาเวลส์ในโมงยามที่การประท้วงเรียกร้องเอกราชเริ่มร้อนแรง และยังต้องเผชิญหน้ากับพระอาจารย์ที่ต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษเข้าไส้อีก จนทำให้เราอดลุ้นตามไม่ได้ ส่วนในตอน Imbroglio ก็ยังน่าจะทำให้คนดูสาว ๆ ต้องหลั่งน้ำตาให้กับหัวใจที่แตกสลายเมื่อความสัมพันธ์ที่ตนเลือกกลับถูกกีดกันจากพระบรมวงศานุวงศ์จนเกิดรอยร้าวในครอบครัวแห่งพระราชวังบัคกิงแฮมที่เราต้องติดตามต่อไป
และแน่นอนว่าดาวเด่นในซีซันนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ที่ขอสละคอสตูมเพี้ยน ๆ ในหนัง ทิม เบอร์ตัน สามีสุดที่รักมาสานบท เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ต่อจาก วาเนสซา เคอร์บี สาวสวยที่ตอนนี้กำลังไปได้ดีในหนังฮอลลีวูด (ผลงานล่าสุดคือ Hobbs & Shaw) โดยคราวนี้ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ต้องเผชิญความซับซ้อนในความสัมพันธ์มากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งปมเรื่องการเป็นรองพี่สาวทั้งที่ตัวเองโดดเด่นกว่าและพร้อมทำหน้าที่ราชินีดีกว่า หรืออย่างการต้องรับมือกับความผิดหวังในความรักซ้ำซากและข่าวฉาวที่มาโหมไฟกระแสต่อต้านสถาบันกษัตริย์ให้ยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งเฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ก็ทำให้เจ้าหญิงมากาเร็ตในซีซันนี้ทั้งเฉิดฉายและน่าเห็นอกเห็นใจในคราวเดียวกันได้อย่างยอดเยี่ยม แม้บางฉาก เธอจะแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยแต่เราก็อดมองเธอไม่ได้ จนหนังถ่ายทอดสดน่าสนใจว่าในซีซันต่อไปบทเจ้าหญิงมากาเร็ตของเธอจะเดินต่อไปในทิศทางไหน
นอกจากนี้ The Crown ซีซัน 3 ยังได้ให้กำเนิดดาวรุ่งอย่าง อีริน โดเฮอร์ตี ในบทเจ้าหญิงแอนน์ ที่น่าจะกลายเป็นขวัญใจหนุ่ม ๆ คนใหม่ได้ไม่ยาก เพราะภายใต้ความเรียบเฉยของใบหน้ายังซ่อนความร้อนแรงและเสน่ห์แบบสาวอังกฤษไว้ให้ได้ค้นหา โดยเฉพาะตอน Imbroglio ที่ทั้งบทและการแสดงของเธอทำคนดูอ้าปากค้างถึงความอินไซต์ของซีรีส์ที่เล่าแม้กระทั่งเรื่องราว วังวนความสัมพันธ์ที่แม้แต่ เจ้าหญิงอย่างเธอยังไม่อาจหลุดบ่วงนี้ได้ แถม โดเฮอร์ตี ยังได้โชว์หุ่นเซ็กซีเล็ก ๆ น้อย ๆ มาให้ได้กระชุ่มกระชวยด้วย
และอีกหนึ่งนักแสดงที่มาเติมเต็มให้ภาพรวมการแสดงในซีซันนี้น่าจดจำมากขึ้นเห็นจะเป็น ชาร์ลส์ แดนซ์ หรือ ไทวิน แลนนิสเตอร์ จากซีรีส์แห่งยุค Game of Thrones ที่ขอสลัดชุดนักรบมาสวมสูทรับบทลอร์ดเมนต์แบทเทิน ที่ซีซันนี้ดันถูกทาบทามไปร่วมปฏิบัติการณ์ “คืนความสุข” ก็ทำให้ตัวละครมีเสน่ห์และเดาไม่ถูกว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้ายกันแน่จนให้ภาพสีเทาแบบมนุษย์จริง ๆ
สรุป
ยังคงยอดเยี่ยม สมเป็นซีรีส์คุณภาพสูงของ Netflix
เล่าเรื่องราวเบื้องลึกภายในราชวงศ์วินเซอร์ ซึ่งมีหลายเรื่องที่คนทั่วไปคงคาดไม่ถึง บางเรื่องเป็นข่าวลือ บางเรื่องเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ได้มีการเปิดเผยในช่วงเวลานั้น โปรดักชั่นอลังการ นักแสดงทรงพลัง เรื่องราวมีความเป็นอังกฤษสูงมาก
Comments